โรงเรือนระบบปิด (evaporative cooling system)
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนมีอุณหภูมิของอากาศค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงสัตว์มักสร้างโรงเรือนเป็นโรงเรือนเปิด ทั้งนี้เพื่อต้องการให้อากาศภายในโรงเรือนมีการหมุนเวียนและระบายอากาศเป็นการลดความร้อนภายในโรงเรือนได้ดี โรงเรือนเปิดไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อุณหภูมิของโรงเรือนจะผันแปรไปตามสภาพของอากาศภายนอกโรงเรือน ช่วงหน้าร้อนอากาศ จะร้อนมาก สัตว์เลี้ยงบางชนิด เช่น ไก่เนื้อ อาจทนอากาศร้อนไม่ไหว เพื่อหลีกเลี่ยงจากอากาศร้อนและต้องการควบคุมอุณหภูมิของโรงเรือนจึงได้มีการคิดค้นโรงเรือนระบบปิดขึ้นโดยใช้หลักการระบายความร้อนด้วยน้ำและใช้พัดลมเป็นตัวถ่ายเทอากาศ โดยมีแผ่นรังผึ้ง (cooling pad) ที่ปล่อยน้ำไหลผ่านจนเปียกชุ่ม เมื่อเดินพัดลมซึ่งอยู่ในแนวตรงกันข้ามกับแผ่นรังผึ้งอากาศภายนอกจะถูกดูดผ่านแผ่นรังผึ้งเข้าภายในโรงเรือน ภายในโรงเรือนจะเย็นสบายโดยใช้หลักการระเหยของน้ำ นอกจากนี้โรงเรือนระบบปิดยังสามารถป้องกันโรคได้อย่างดีโดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก
ทั้งโรงเรือนเปิดและโรงเรือนระบบปิดก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงสัตว์จะต้องตัดสินใจว่าควรจะเลือกใช้โรงเรือนระบบใด แต่ในภาพรวมๆ แล้วโรงเรือนระบบปิดจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอากาศร้อน และป้องกันโรคได้ดีกว่าโรงเรือนเปิด โดยข้อดีและข้อควรพิจารณาของโรงเรือนระบบปิด มีดังนี้
ข้อดี
- ลดความเครียดที่เกิดจากความร้อนและทำให้ไก่สุขภาพดีขึ้น
- ในพ่อ – แม่พันธุ์ไก่กระทงจะให้ผลผลิตสูงขึ้น
- ลดอัตราการตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอากาศร้อนจัด
- ใช้พัดลมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโรงเรียนแบบเปิด และเป็นการประหยัด ค่ากระแสไฟฟ้า
- สามารถใช้ร่วมกับระบบทึบแสง (dark – out) เพื่อเลี้ยงไก่พ่อ – แม่พันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าโรงเรือนแบบเปิด
- การหมุนเวียนอากาศภายในโรงเรือนสม่ำเสมอมาก อากาศบริสุทธิ์จากภายนอกจะผ่านแผ่นรังผึ้งเข้ามาภายในโรงเรือนและระบายเอาอากาศเสียออกไปภายนอกโรงเรือนโดยพัดลมใช้เวลาสั้น ๆ เท่านั้น เป็นการลดปัญหาระดับแอมโมเนียในโรงเรือนได้
- อัตราการเจริญเติบโตดีกว่าและประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อดีในไก่กระทง
- ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
- สามารถเลี้ยงไก่ได้มากขึ้นกว่าโรงเรือนแบบเปิด เมื่อเทียบกับพื้นที่เท่ากัน
- สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศและแสงสว่างในโรงเรือนได้
ข้อควรพิจารณา
- การลงทุนในระยะเริ่มต้นสูง (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการดูแลของแต่ละฟาร์ม)
- นื่องจากระบบควบคุมอุณหภูมิของโรงเรือนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ หลายชนิด เช่น ชนิดและขนาดของแผ่นให้ความเย็น ระดับความชื้นภายนอกและภายในโรงเรือน พื้นที่และความหนาแน่นของการเลี้ยง จำนวนพัดลมและการวางผังตำแหน่งของพัดลม เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนอากาศในระดับความเร็วลมที่เหมาะสมและทั่วถึงทั้งโรงเรือน ต้องศึกษาความรู้ และความเข้าใจในระบบ การปฏิบัติ และมีวิธีการจัดการที่ถูกต้อง
- การเลี้ยงสัตว์ที่หนาแน่นเกินขอบเขตความสามารถในการจัดการเลี้ยงดู สภาพของโรงเรือนและจำนวนอุปกรณ์ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและการให้ผลผลิตที่ต่ำกว่า มาตรฐานได้
- การพิจารณาถึงขนาดของโรงเรือนในระบบปิดของฟาร์มนั้นต้องคำนึงถึงความสามารถในการจัดการแบบเข้าหมดออกหมด (all-in all-out) ของฟาร์มได้ โรงเรือนที่มีขนาดใหญ่เกินไปไม่สามารถที่จะย้ายสัตว์ออกได้หมดภายในระยะเวลาหนึ่ง และทำให้ต้องมีการนำสัตว์ รุ่นต่อมาทยอยเข้าไปในโรงเรือน ในขณะที่สัตว์ชุดก่อนยังมีการเลี้ยงอยู่ในโรงเรือนที่จะส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ในรุ่นใหม่อย่างแน่นอน
- โรงเรือนในระบบปิดถูกออกแบบให้ช่วยในการเพิ่มผลผลิตของสัตว์ ส่วนการป้องกันโรคหรือการติดเชื้อของสัตว์ควรเน้นที่การป้องกันฟาร์มในระบบปิดมากกว่า
เครดิตเนื้อหา :
http://elearning.nsru.ac.th/web_elearning/animals/lesson5_4.php
http://www.saiseenews.com/เกษตรกรรม/ระบบฟาร์มปิดแบบ-evap-เพื่อเ/